เราต้องยอมรับความจริงว่าการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตโดยกลไกตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นไม่เร็วก็ช้า มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตชนิดที่ปรากฎอยู่ในโลกปัจจุบันเป็นเพียงส่วนน้อยนิดประมาณ 1% ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ จำนวนมากมายหลายร้อยล้านชนิดที่เคยอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ในอดีตกาล โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 600 ล้านปีที่ผ่านมา มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีสิ่งมีชีวิตมากมายและหลากหลายที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของความหลากหลายทางชีวภาพทีเดียว เราอาจประมาณการณ์ได้ว่าอัตราสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าวในอดีตกาล เกิดขึ้นตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ โดยเฉลี่ยประมาณปีละ 1 สปีชีส์ แต่ในปัจจุบันพบว่า การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วเป็นหลายร้อยหลายพันเท่าของอัตราสูญพันธุ์ในอดีตกาล จะสังเกตว่า การสูญพันธุ์อย่างรวดเร็วเกิดขึ้นในพวกที่อาศัยอยู่ในป่าชื้นเขตร้อน โดยเฉพาะในประเทศที่ด้วยพัฒนา และที่กำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทยเราด้วย การสูญเสียทรัพยากรสิ่งมีชีวิตอย่างมากมายในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่สิบปีมานี้ ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์อย่างน่าอนาถใจยิ่ง นักวิชาการประเมินอัตราสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตประมาณวันละ 1 ชนิด ในช่วงปี ค.ศ. 1970 และเพิ่มขึ้นเป็นชั่วโมงละ 1 ชนิดในช่วงปี ค.ศ. 1980 หากอัตราสูญพันธุ์เป็นไปในลักษณะเช่นนั้ก็เป็นที่เชื่อกันว่าภายใจสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้ จะมีการสูญพันธุ์ไม่น้อยกว่า 20-50% ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกกลมใบนี้ และในจำนวนที่สูญพันธุ์ไปนี้จะเป็นการสูญเสียจากป่าชื้นเขตร้อนมากที่สุด เพราะมีหลักฐานแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีการทำลายป่าไม้ในเขตร้นอย่างมากมายในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา
ในระบบนิเวศที่สมดุล การสูญเสียสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่ง อาจมีผลกระทบถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี นักชีววิทยาได้ประมาณการณ์ว่า การสูญพันธุ์ของพืชชนิดหนึ่งสามารถส่งผลกระทบให้มีการสูญเสียแมลงและสัตว์อื่นในระบบนิเวศเดียวกันได้มากมากหลายชนิด อาจมากถึง 30 ชนิดก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบอาจไม่ปรากฎชัดเจนในทันท่วงทีในระบบนิเวศที่ซับซ้อน
ความหลากหลายของระบบนิเวศ ระบบนิเวศประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตนานาชนิด และรูปแบบต่าง ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ที่อยู่ร่วมกันในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยสิ่งมีชิวิตเหล่านั้นสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมรอบ ๆ ตัวได้ การปรับตัวเปลี่ยนแปลงบางอย่างของสิ่งมีชิวตอาจเกิดขึ้นภายในหนึ่งชั่วอายุ หรืออาจเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลายาวนานหลายชั่วอายุ โดยผ่านการคัดเลือกตามธรรมชาติ ตามกระบวนการวิวัฒนาการ สมบัติและความสามารถของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด แต่ละตัวตนในแต่ละประชากรที่จะเจริญเติบโต แตกต่างกันออกไปในสภาวะแวดล้อมที่หลากหลาย และเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลานั้น มีพื้นฐานมาจากความแตกต่างแปรผันทางพันธุกรรม สิ่งมีชีวิตและสภาวะแวดล้อมต่างก็มีบทบาทร่วมกันและมีปฏิกิริยาต่อกันและกันอย่างซับซ้อนในระบบนิเวศที่สมดุล ขนาดของประชากรเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่อาจมีผลต่อระบบนิเวศ ประชากรที่มีขนาดเล็กมากจะล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์มากกว่าประชากรที่มีขนาดใหญ่ การลดขนาดของประชากรอาจเกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมอย่างฉับพลัน ซึ่งมีผลทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมจนประชากรนั้นไม่สามารถปรับตัว และสูญพันธุ์ไปในที่สุด นอกจากนั้นประชากรที่มีขนาดเล็กแต่สมาชิกกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่กว้างขวาง คงประสบปัญหาเรื่องการขาดคู่ผสมพันธุ์ อันเป็นผลให้ประชากรนั้นต้องสูญพันธ์ไปได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น โครงสร้างและสมบิตของระบบนิเวศเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ รวมทั้งมนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล การกระทำได ๆ ที่จะก่อให้เกิดการขาดแคลนสปีชีส์หรือลดขนาดของประชากรของสปีชีส์หนึ่ง ย่อมส่งปผลกระทบต่อระบบนิเวศนั้นอย่างแน่นอนยิ่งหากมีการกระทำที่นำไปสู่การสูญพันธุ์หรือแม้กระทั่งเกือบสูญพันธุ์ของสิ่งมีชวิตเพิ่มมากขึ้นด้วยแล้ว ย่อมหมายถึงการเดินทางไปสู่ความหายนะของระบบนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น Homo sapiens เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในระบบนิเวศต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก เพราะได้รับการสนับสนุนและการเอื้ออาทรจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆของระบบนิเวศ ความเจริญทางอารยธรรมของมนุษย์ได้มาถึงจุดสุดยอด และเริ่มเสื่อมลง เพราะมนุษย์เริ่มทำลายสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่เคยช่วยเหลือสนับสนุนตนเองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค หรือการแสวงหาความสุขและความบันเทิงบนความทุกข์ยากของสิ่งมีชีวิตอื่นก็ตาม จนทำให้เกิดการเสียดุลของระบบนิเวศ ซึ่งจะนำไปสู่ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงของสรรพสิ่งทั้งมวล
การที่สิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ถูกทำลายสูญหายไปจากโลก จะโดยภัยธรรมชาติ หรือจากน้ำมือของมนุษย์ก็ตามที จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเร่งให้อัตราสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่เหลืออยู่ในโลกนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ อันเนื่องมาจากเสียดุลของระบบนิเวศนั้นเอง อัตราสูญพันธุ์อาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละระบบนิเวศ อาจมีคำถามตามมาว่า จะมีทางเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด หรือไม่ที่มนุษย์จะนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงหาสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นมาทดแทนสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไป เช่น การปลูกพืชชนิดใหม่ หรือการนำสัตว์พันธุ์ใหม่เข้ามาทดแทนชนิดเดิม ในทางเทคนิคแล้วไม่มีปัญหาที่จะทำเช่นนั้น แต่เราต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของป่าจากสภาพธรรมชาติเดิมมาเป็นระบบที่จัดสร้างขึ้นมาใหม่ตามรูปแบบที่มนุษย์ต้องการนั้น อาจทำได้เฉพาะในบางท้องถิ่นเท่านั้น อย่างเช่น ในป่าเขตอบอุ่น อาจทำการจัดปลูกป่าทดแทนได้ เพราะสภาพอากาศและดินเอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลงได้พอสมควร แต่จะพบว่าในป่าชื้นเขตร้อนที่มีสภาพอากาศแปรปรวนไปตามฤดูกาล และ ความสมบูรณ์ของอาหารพืชมักจะสะสมอยู่ในต้นพืชเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งยากที่จะหาสิ่งใหม่ ๆ มาทดแทนได้อย่างเหมาะสม หากป่าชื้นเขตร้อนถูกทำลายไปจนหมดแล้ว สภาพทางนิเวศวิทยาก็จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ในกรณีเช่นนี้ สิ่งที่มนุษย์จะทำได้ดีที่สุดและควรทำอย่างยิ่ง คือ การหามาตรการป้องกันน้ำไหลบ่าท่วมพื้นที่ และหาทางทำแหล่งกักเก็บน้ำที่เหมาะสม มิเช่นนั้น ก็อาจเกิดเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัว ดังเช่นที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2531 และในอีกหลายแห่งของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตามสภาพนิเวศวิทยาบางแห่งที่ถูกเปลี่ยนแปลงเกิดความไม่สมดุล หรือถูกทำลายไปแล้ว ก็ไม่สามารถจะสร้างระบบใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ จะโดยวิธีการเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพียงใดก็ตาม ทั้งนี้ เพราะว่าการสูญเสียแหล่งสะสมความแปรผันทางพันธุกรรม อันถือได้ว่าเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่า ของประชากรของสิ่งมีชีวิตนั้น จะเป็นการส่งเสริมให้มีการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศนั้น ในลักษณะการคล้ายกับทฤษฎีโดมิโนนั่นเอง
ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยในการเสริมสร้างทดแทนระบบนิเวศที่เสียสภาพสมดุลไป มักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ธรรมชาติเท่านั้นที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำรงต่อไปได้อย่างกลมกลืนกันที่สุด หากเราต้องการที่จะเสี่ยวงต่อการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ โดยหวังประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านผลผลิตทางเกษตรกรรม ผลผลิตทางการแพทย์ และด้านวัตถุดิบเพื่อการอุตสาหกรรมแล้ว เราก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะเสียค่าใช้จ่ายให้กับสิ่งที่เราได้มา แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่ามันจะคุ้มค่ากันหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ปัญญาชนทั่วไปต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ ก่อนที่จะกระทำการใด ๆ ลงไป มิเช่นนั้น ผลไได้ที่เรามองเห็นชัดเจนจะไม่คุ้มค่ากับผลเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและในระยะยาม ซึ่งยากแก่การประเมินค่าให้เห็นชัดเจน อันนี้เป็นจุดอ่อนของนักวิชาการด้านธรรมชาติวิทยาที่ถูกโจมตีโดยนักพัฒนา นักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งผู้มีอำนาจในการวางนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งหลาย ผู้ซึ่งมักกล่าวอ้างให้นักวิชาการด้านธรรมชาติวิทยา ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่จะนำไปสู่การเสียสมดุลของระบบนิเวศ ให้หาข้อมูลและพิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์และคุณค่าของความหลากหลายของระบบนิเวศที่ควรรักษาไว้นั้นโดยให้เวลาจำกัด ซึ่งเป็นเรื่องยากที่นักวิชาการจะกระทำได้ เพราะการเปลี่ยนแปลง หรือ เสียดุลของระบบนิเวศจะไม่ส่งผลให้เห็นชัดเจนในเวลาจำกัดตามที่เราต้องการ อย่างไรก็ตามผมกลับมองไปในทางตรงกันข้ามว่า นักพัฒนาหรือผู้กล่าวอ้างเหล่านั้น น่าที่จะเป็นผู้หาหลักฐานพิสูจน์ยืนยันให้เห็นว่า พืชและสัตว์นานาชนิดของระบบนิเวศที่เราคิดจะอนุรักษ์ไว้นั้น ไม่มีประโยชน์และไม่มีคุณค่าต่อการพัฒนาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเช่นเดียวกัน
ความหลากหลายของพันธุกรรม กระบวนการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยการการคัดเลือกตามธรรมชาติขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือองค์ประกอบทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นกับสภาวะแวดล้อม ความหลากหลายของพันธุกรรมเป็นรากฐานสำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เพื่อที่จะเอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงศัตรูหรือ ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ ความหลากหลายของพันธุกรรมภายในประชากรที่อาศัยอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ กันของสปีชีส์หนึ่ง ยังช่วยเพิ่มศักยภาพของประชากรของสปีชีส์นั้นให้สามารถวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ กันได้อย่างเหมาะสมในระยะยามอีกด้วย (ภาพที่ 1) ดังจะเห็นว่าพันธุ์พืชป่าจะมีวิวัฒนาการเปลี่ยแปลงปรับตัวเพื่อต่อสู้กับสัตว์และพวกจุลินทรีย์ที่เป็นศัตรูอยู่ตลอดเวลา ในทำนองเดียวกันพวกสัตว์ที่เป็นศัตรูของพืชต่าง ๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการที่จะเอาชนะพืชให้ได้ กระบวนการวิวัฒนาการร่วมกันระหว่างพันธุ์พืชและสัตว์เช่นนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความสอดคล้องของความหลากหลายทางพันธุกรรมของทั้งพืชและสัตวืดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้มีการคัดเลือกตามธรรมชาติ เช่น พืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่งอยู่ร่วมกับผีเสื้อชนิดหนึ่ง โดยตัวหนอนของผีเสื้ออาศัยกินใบของพืชตระกูลถั่วชนิดนั้นเป็นอาหาร นักชีววิทยาค้นพบว่ามีความหลากหลายของพันธุกรรมหรือยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการสังเคราะห์สารแอลคาลลอยด์ชนิดต่าง ๆ ในพืชถั่ว สารแอลคาลลอยด์บางชนิดมีสมบัติเป็นพิษต่อการดำรงชีวิตของตัวหนอนผีเสื้อชนิดนั้นด้วย และผีเสื้อนี้ก็มีความหลากหลายของยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมเอนไซม์ที่ช่วยทำลายหรือยับยั้งสารพิษแอลคาลลอยด์รูปแบบต่าง ๆ ของพืชด้วยเช่นกัน ทำให้ทั้งพืชถั่วและผีเสื้อวิวัฒนาการร่วมกันอย่างสมดุลตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
ผลกระทบที่เด่นชัดที่สุดของประชากรธรรมชาติที่ขาดแคลนความหลากหลายของพันธุกรรม คือ การนำไปสู่สภาวะโฮโมไซโกซิตีของสมาชิกของประชากรนั้น นอกจากนั้น ประชากรที่ขาดความแปรผันทางพันธุกรรมยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดประสิทธิภาพของการอยู่รอดและความสมบูรณ์ในการสืบพันธุ์อีกด้วย ผลกระทบต่าง ๆ ดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของสภาวะความกดดันของการผสมภายในสายพันธุ์ (inbreeding depression) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียความยืดหยุ่นทางวิวัฒนาการอย่างแน่นอน
การคัดเลือกพันธุ์ และเก็บรักษาพันธุ์พืชหรือสัตว์ เพื่อการเกษตรกรรม โดยเก็บตัวอย่างจำนวนจำกัดของสายพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของเรา คงไม่เกิดผลดีเท่าไรนัก เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายของพันธุกรรม อันอาจก่อให้เกิดผลร้ายตามมาอย่างคาดไม่ถึง การเพาะเลี้ยงสายพันธุ์พืช หรือสัตว์อาจได้รับการปกป้องรักษาโดยมาตรการควบคุมศัตรู จะโดยการใช้สารเคมีหรือใช้ชีววิธีก็ตาม ก็ไม่ให้ผลดีเท่ากับสมบัติการต่อต้านหรือดื้อต่อศัตรูที่เกิดจากพันธุกรรม ดังนั้น การปรับปรุงพันธุ์ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี จำเป็นต้องหาสายพันธุ์ที่มียีนที่ดื้อ หรือต่อต้านศัตรูพืชเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ เพราะศัตรูพืชมีกลไกการปรับตัวทางพันธุกรรมที่จะทำให้มันสามารถอยู่รอดได้โดยอาศัยพืชเหล่านี้ด้วย สิ่งจำเป็นพื้นฐาน ของการปรับปรุงรักษาพันธุ์พืชหรือสัตว์ คือ การแสดงหาสายพันธุ์ที่มีความหลากหลายของพันธุกรรมทั้งในด้านผลผลิต และด้านความสามารถต่อต้านศัตรู เพื่อนำมาใช้ในการผสมพันธุ์และการคัดเลือกสายพันธุ์ตามหลักวิชาการ แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการตัดเลือกสายพันธุ์ คือ การสูญเสียความหลากหลายของพันธุกรรมเสมอ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของมนุษย์ในความพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติ แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคที่เกิดจากธรรมชาตินั้นเอง วงการเกษตรกรรมเคยฮือฮากับปฏิวัติเขียว หรือ กรีนเรโวลูชัน (green revolution) ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การเกษตร ที่ปรับปรุงพันธุ์ข้าว และข้าวโพด ให้ได้ผลผลิตสูงเพียงพอกับความต้องการของ ประชาชนจำนวนมากในประเทศที่ยากจนและด้วยพัฒนาในโลกที่สาม พันธุ์ข้าวและข้าวโพดสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่พัฒนาปรับปรุงขึ้นมาในประเทศที่เจริญแล้ว จะให้ผลผลิตสูงมากกว่าพันธุ์พื้นเมืองที่ชาวบ้านมีอยู่ หากได้รับการดูแลที่เหมาะสมในเรื่องเกี่ยวกับน้ำ ปุ๋ย และยาปราบศัตรู แต่โดยธรรมชาติของเกษตรกรทั่วไปที่มุ่งหวังแต่ผลผลิตสูงเป็นประเด็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงหลักและความสำคัญของความหลากหลายของพันธุกรรม ผลก็คือมีการนำเอาสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาใช้แทนที่พันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งค่อย ๆ ถูกละเลยและถูกทอดทิ้งจนกระทั่งสูญหายไปในที่สุด หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นการนำเอาความเป็นเอกภาพของพันธุกรรม (genetic uniformity หรือ hemogeneity) มาทดแทนความหลากหลายของพันธุกรรม (genetic diversity) ทำให้พันธุ์พื้นเมืองที่มีองค์ประกอบพันธุกรรมเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองในท้องถิ่นนั้น ๆ ต้องสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย เสมือนเป็นการทำลายอู่ข้าวอู่น้ำที่มีค่าอย่างคาดไม่ถึง ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคมที่มีการทำลายธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อพลังงานไฟฟ้า และการชลประทาน การทำเหมืองแร่ การทำอุตสาหกรรมป่าไม้ การสร้างเมืองใหม่ การขยายพื้นที่เพาะปลูก ฯลฯ ย่อมนำไปสู่การสูญเสียพืชพันธุ์เก่าแก่ในท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งเป็นการทำลายความหลากหลายของพันธุกรรมโดยที่มิอาจเรียกกลับคืนมาได้อีก ดังเช่นเหตุการณ์ที่น่าเสียใจที่เกิดขึ้นในประเทศโลกที่สามอย่างเช่น ไนจีเรีย เอธิโอเปีย กลุ่มประเทศในอเมริกาใต้ และในเอเชีย
ความหลากหลายของพันธุกรรมในประชากรธรรมชาติจำเป็นต้องพิทักษ์รักษาไว้ เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบของหน่วยพันธุกรรมรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มนุษย์ต้องการ ตัวอย่างการค้นพบข้าว ข้าวโพด มันฝรั่ง มะเขือเทศ และพืชชนิดอื่น ๆ ที่เป็นพันธุ์เก่าแก่และถูกทอดทิ้งอยู่ในป่ามาเป็นเวลานาน ยังก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมนุษย์ ดังจะเห็นว่า การค้นพบมะเขือเทศสปีชีส์ใหม่ 2 ชนิด ในป่าทึบของประเทศเปรู สปีชีส์ที่ค้นพบใหม่เป็นพันธุ์เก่าแก่ที่หายากมาก นักวิทยาศาสตร์ได้นำเอามะเขือเทศพันธุ์เก่าแก่มาผสมพันธุ์กับพันธุ์ที่ใช้เพาะปลูกโดยเกษตรกรทั่วไปแล้วปรากฎว่า ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงมากกว่าพันธุ์ที่เคยใช้กันอยู่หลายเท่า และสามารถปรับปรุงพันธุ์ผสมใหม่ที่ได้ยีนมาจากพันธุ์ป่าเก่าแก่ ทำให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจต่อประเทศสหรับอเมริกาอย่างมหาศาลเกินค่าเงินที่ลงทุนไปในการวิจัยค้นหาพันธุ์เก่าแก่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในป่านั้น
การค้นพบสายพันธุ์ข้าวชนิดเก่าแก่ที่มีความต้านทานต่อโรคข้าวหลายชนิด แต่พันธุ์ข้าวเหล่านั้นมีคุณค่าท่างผลผลิตน้อยจนถูกละเลยในประเทศอินเดีย ทำให้นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวคัดเลือกเอายีนที่ต้านทานโรคข้าวได้ดีมาใช้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวปกติที่ให้ผลผลิตสูง อันจะยังประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากมาย